แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

พระเครื่องขลังพุทธคุณสูงที่ปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์วิชาอาคมขลังสุดยอดแห่งสํานักเขาอ้ออันโด่งดัง "พระชัยวัฒน์สี่มุมเมือง อาจารย์นำ วัดดอนศาลา จังหวัดพัทลุง"
27 มีนาคม 2563    3,261

พระชัยวัฒน์สี่มุมเมือง อาจารย์นำ วัดดอนศาลา จังหวัดพัทลุง

โดย ศาล มรดกไทย


พระเครื่องขลังพุทธคุณสูงที่ปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์วิชาอาคมขลังแห่งภาคใต้ นับเป็นพระเครื่องที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพิธีใหญ่มีพระอาจารย์ที่เก่งๆ เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนมาร่วมในพิธีหลายๆ รูป ล้วนเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคใต้ ซึ่งประธานในพิธีคือพระอาจารย์นํา วัดดอนศาลา สุดยอดพระเกจิแห่งสํานักเขาอ้ออันโด่งดังของจังหวัดพัทลุง

ทั้งท่านยังเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์นํา แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ในพระชัยวัฒน์สี่มุมเมือง (พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ) ที่สูงล้ำในด้านพุทธคุณเกินกว่าราคาสะสมในปัจจุบัน

ดังเดิมพระพุทธนิรโรคันตราย เป็นพระบูชาปางนั่งขัดสมาธิ ที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เนื่องในโอกาสที่พระองค์ท่านทรงครองสิริราชสมบัติเสมอเทียบเท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ครบ 15 ปี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและสมโภชสิริราชสมบัติ โปรดให้หล่อพระบูชาพระพุทธนิรโรคันตรายถวายวัดหลวงจํานวน 15 องค์และส่วนราชการอีกหนึ่งองค์

เหมือนเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงสร้างพระนิรันตรายถวายวัดหลวงที่สําคัญ จนมาถึงยุคสมัยรัชกาลปัจจุบันในปี พ.ศ.2511 กรมการรักษาดินแดน (ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 6) มีความคิดที่จะสืบต่อประเพณีการสร้างพระบูชา เพื่อเป็นขวัญกําลังใจและเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้ประชาชนร่มเย็นเป็นสุข โดยประดิษฐานในทิศต่างๆ ทั้งสี่ทิศหรือสี่มุมเมือง คณะผู้ใหญ่จึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต เพื่อประจําดังทิศต่างๆ ดังนี้ ทิศเหนือจังหวัดลําปาง ทิศตะวันออกจังหวัดสระบุรี ทิศตะวันตกจังหวัดราชบุรี ทิศใต้จังหวัดพัทลุง สําหรับพระบูชาพระพุทธนิรโรคันตรายมีขนาดหน้าตัก 49 นิ้ว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมสามอย่าง มีทองขาวทองเหลืองและทองแดง

ซึ่งในพิธีขณะทําการหล่อยังเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมนําเงินทองนากเข้ามาร่วมหล่อพระเพื่อเป็นสิริมงคล ที่สําคัญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ พระราชดําเนินเสด็จมาเททองหล่อพระในครั้งนี้ โดยจัดให้มีพิธีพุทธาภิเศกถึงสามครั้ง และในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2511 ได้มีพระบรมราชโองการฯ ให้ผู้ว่าราชการทั้งสี่จังหวัดเข้ารับพระราชทานพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ณ พระตําหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นที่ปราบปลื้มของประชาชนโดยเฉพาะจังหวัดทั้งสีที่เป็นตัวแทนประจําทิศต่างๆ

สําหรับจังหวัดพัทลุงเป็นโอกาสอันสําคัญได้จัดขบวนแห่อย่างสมเกียรติ มีพิธีเฉลิมฉลองและได้สร้างพระชัยวัฒน์ขนาดเล็ก เป็นที่ระลึกเพื่อให้ประชาชนนําไปบูชาคุ้มครองป้องกันภัย โดยมีรูปแบบเช่นเดียวกับพระบูชาองค์ใหญ่ มีเนื้อทองคํา เงิน ทองเหลืองผิวไฟ จํานวนการสร้างนับเป็นหมื่นๆ องค์ ลักษณะเป็นพระปั้มมีขนาดเล็กสูงประมาณ 2.3 เซนติเมตรกว้างที่ฐาน 1.5 เซนติเมตร แบ่งเป็นพิมพ์หน้าใหญ่และพิมพ์หน้าเล็ก ใต้ฐานจะมีการตอกโค้ดเป็นตัวยันต์ “เฑาะว์ขึ้นยอดเป็นอุณาโลม” เท่าที่พบเจอบ่อยๆ จะเป็นการตอกหนึ่งกับสามโค้ด (เป็นโค้ดแบบเดียวกัน) ยังมีพบเจอแบบสองโค้ดจนถึงสี่ห้าโค้ดก็มีแต่หาชมยากมาก

สําหรับพิธีการปลุกเสกจัดอย่างยิ่งใหญ่โดยมีพระอาจารย์นํา วัดดอนศาลาเป็นประธานในพิธีและมีพระเกจิอาจารย์มาร่วมพิธีทั้งหมดดังนี้ พระอาจารย์ที่มาร่วมปลุกเสก 9 รูป
1 พระอาจารย์นํา วัดดอนศาลา จังหวัดพัทลุง
2 หลวงพ่อหมุน วัดเขาแดงตะวันออก จังหวัดพัทลุง
3 หลวงพ่อเล็ก วัดประดู่เรียง จังหวัดพัทลุง
4 หลวงพ่อปาล วัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง
5 หลวงพ่อเจ็ก วัดเขาแดงตะวันออก จังหวัดพัทลุง
6 หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช
7 หลวงพ่อคลิ้ง วัดถลุงทอง จังหวัดนครศรีธรรมราช
8 หลวงพ่อเขียว วัดหรงบน จังหวัดนครศรีธรรมราช
9 หลวงพ่อมุ่ย วัดป่าระกําเหนือ จังหวัดนครศรีธรรมราช


ยังมีพระอาจารย์ที่มาร่วมสวดเจริญพระพุทธมนต์อีก 9 รูปคือ
1 หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน จังหวัดพัทลุง
2 หลวงพ่อแก้ว วัดโคกโดน จังหวัดพัทลุง
3 หลวงพ่อช้วน วัดตันตยาภิรม จังหวัดตรัง
4 หลวงพ่อวัน วัดปากพยูน จังหวัดพัทลุง
5 หลวงพ่อแสง วัดคลองน้ำเจ็ด จังหวัดตรัง
6 หลวงพ่อแก่น วัดทุ่งหล่อ จังหวัดนครศรีธรรมราช
7 หลวงพ่อพุ่ม วัดน้ําผุดใต้ จังหวัดตรัง
8 หลวงพ่อจันทร์ วัดทุ่งเฟื้อ จังหวัดนครศรีธรรมราช
9 พระครูการาม (หลวงพ่อพลับ) วัดชายคลอง จังหวัดพัทลุง


แสดงถึงความยิ่งใหญ่ในพิธีปลุกเสกครั้งนี้ได้เป็นอย่างดีที่รวมพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคใต้โดยเฉพาะพระอาจารย์สายสํานักเขาอ้อต่างมาร่วมงานครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง กล่าวกันว่าในระหว่างพิธีปลุกเสกพระเครื่องชัยวัฒน์สี่มุมเมืองที่บรรจุอยู่ในลังมีการเคลื่อนไหวให้ได้ยินเสียงอย่างน่าอัศจรรย์



พระชัยวัฒน์สี่มุมเมืองนับเป็นวัตถุมงคลล้ำค่าที่ยังพอเสาะหาได้ในราคาไม่สูงนักทั้งยังมีพุทธคุณสูงเด่นในทุกๆ ทางทั้งแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เมตตาค้าขายดี มีประสบการณ์ที่ให้ได้ยินเสียงเล่าขานร่ำลือมานาน ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในชุดวัตถุมงคลของพระอาจารย์นํา วัดดอนศาลา ยอดพระเกจิอาจารย์ที่น่าเคารพเลื่อมใสที่สุดรูปหนึ่งของเมืองไทย